กิจกรรมภาควิชา ของ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กิจกรรมนิสิตของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการบริหารจัดการโดยชมรมนิสิตภาควิชาเคมี กิจกรรมภายในภาควิชาเคมีสามารถแบ่งกิจกรรมออกได้หลายลักษณะ ได้แก่ กิจกรรมเชิงสันทนาการ เป็นกิจกรรมมุ่งสร้างความบันเทิงและความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดแก่นิสิต อาทิ กิจกรรมรักแรกจากเคมีเพื่อต้อนรับน้องใหม่ชั้นปีที่ 1 เข้าสู่ภาควิชาเคมี งานคืนสู่เหย้าของนิสิตเก่าภาควิชาเคมี รวมไปถึงกิจกรรมบายเนียร์ของนิสิตชั้นปีสุดท้าย กิจกรรมกีฬาประกอบไปด้วยการแข่งขันกีฬาสีภายในของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาภาควิชาเคมี ในด้านวิชาการและวิชาชีพ มีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางเคมีได้แก่การแข่งขันตอบปัญหาเคมี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ CHEMTEST การจัดบรรยายสายงานในวิชาชีพแก่นิสิต นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมด้านการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม ได้แก่ การจัดพิธีไหว้ครูช่วงต้นปีการศึกษา ตลอดจนวันสำคัญของคณะ คือวันคล้ายวันครบรอบการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดร่วมกับหน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ กิจกรรมวันแรกพบคณะวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสอนน้องร้องเพลง ความร่วมมือของส่วนงานระหว่างคณะ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาบุคลากร ส่วนหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ กีฬาเคมีสัมพันธ์ หรือ บอนดิ้งเกมส์ (Bonding Games) เป็นต้น

CHEMTEST

เป็นการแข่งขันตอบปัญหาเคมี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เริ่มจัดการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 ใช้ชื่อการแข่งขันเป็นภาษาอังกฤษว่า ChemTest โดยมีคณะกรรมการนิสิตภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี พระราชทานโล่เกียรติยศแก่ทีมที่ชนะเลิศด้วย[94] รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนทั้งจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณาจารย์ภาควิชาเคมี ตลอดจนหน่วยงานภายนอก ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการที่นักเรียนทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนในภูมิภาคต่าง ๆ สมัครเข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน การแข่งขันตอบปัญหาเคมีฯ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 40 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562[95]

รูปแบบการแข่งขันเป็นการแข่งขันประเภททีม ไม่เกิน 2 คน ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบที่1 (ภาคเช้า) และรอบที่2 (ภาคบ่าย) โดยจะประกาศผลการแข่งขันในรอบที่ 1 ให้ผู้เข้าแข่งขันทราบในช่วงพักกลางวัน และรายงานตัวผู้เข้าแข่งขันในรอบที่ 2 ในช่วงบ่าย และในช่วงเย็นจะทำการประกาศผลการแข่งขันตอบปัญหาเคมีฯ พร้อมมอบโล่รางวัล ทุนการศึกษา และทำพิธีปิดการแข่งขัน

กติกาการรับสมัคร

ผู้สมัครเข้ารับการแข่งขันจะต้องมีคุณสมบัติโดยทั่วไป ได้แก่

  • เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • แข่งขันประเภททีม ทีมละ 2 คน
  • โรงเรียนสามารถส่งนักเรียนเข้าแข่งขันได้ไม่เกินโรงเรียนละ 2 ทีม

รางวัล

  • รางวัลชนะเลิศ จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี และเกียรติบัตรพร้อมทุนการศึกษา
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเกียรติบัตรพร้อมทุนการศึกษา
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับเกียรติบัตรพร้อมทุนการศึกษา
  • รางวัลชมเชยจะได้รับเกียรติบัตรพร้อมทุนการศึกษา
  • ผู้เข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาจะได้รับเกียรติบัตรสำหรับผู้เข้าร่วม

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://www.alquimicos.com/oq_reg/internacionales/i... http://maps.google.com/maps?ll=13.8454802,100.5714... http://www.hiclasssociety.com/hiclass/detailconten... http://ptg.listedcompany.com/misc/PRESN/20180425-p... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.8454... http://www.natureindex.com/annual-tables/2016/inst... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://chemistryolympiad.weebly.com/uploads/8/2/4/... http://www.globalguide.org?lat=13.8454802&long=100... http://ku-alumni.org/download/student.pdf